ผู้เขียน หัวข้อ: Full Drive : Subaru XV 2.0 I-P ใหม่หมดดาวลูกไก่ลุยป่าคอนกรีต....เท่เกินรุ่น  (อ่าน 2575 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Hugball

  • Global Moderator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 7054
  • เพศ: ชาย
    • www.hugball.net


ถ้าจะกล่าวถึงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความแรง ชื่อ Subaru ก็จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่สาวกขาซิ่งให้ความนิยมมานานหลายปี มรดกเทคโนโลยีต่างๆทั้งขุมพลังเครื่องยนต์ลูกสูบนอนยันและระบบส่งกำลังขับสี่ AWD ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ใครมาใช้ในรุ่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Subaru WRX, Subaru BRZ และ Subaru Legacy



แต่สำหรับรถอเนกประสงค์ SUV ทาง Subaru ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันมีรุ่นต่างๆออกทำตลาดมากมายหลายรุ่น ทั้ง Subaru Outback, Subaru Forester ล้วนทำให้ Subaru ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในตลากโลกรวมถึงน้องเล็กอย่าง Subaru XV โดยเมืองไทย ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้นำเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2013 และล่าสุดกับเจเนอเรชั่นที่สองที่เปิดตัวไปตั้งแต่งาน Motor Expo 2017 ช่วงปีกลาย สำหรับรุ่นย่อยของ Subaru XV มีด้วยกัน 2 รุ่น แต่สำหรับผมเลือกรุ่นท็อปอย่าง 2.0 I-P มาทดสอบโดยยังเป็นรถนำเข้าจากมาเลเซียเช่นเดิม

ความหล่อฉกาจของตัวรถอาจไม่แตกต่างจากเจเนอเรชั่นที่แล้วเพราะมาในรูปแบบ Hatchback 5 ประตูแต่งานดีไซน์ออกแบบใหม่หมดในสไตล์ DYNAMIC X SOLID ตั้งแต่ กระจังหน้ารูปทรงเหลี่ยมแบบเรขาคณิตพร้อมปีกกระจังหน้าซ้าย-ขวาเติมหรูด้วยคิ้วโครเมี่ยมประกบโลโก้ดาวลูกไก่ ขนาบข้างด้วยไฟหน้าทรงตาเหยี่ยวโคมดำ Projector แบบ LED ชัดเจนในยามค่ำคืนตอนเข้าโค้งด้วยระบบไฟหน้าปรับตามทิศทางการเลี้ยว SRH โดยทิศทางของลำแสงไฟหน้าจะหมุนไปซ้าย-ขวา ตามการหมุนของพวงมาลัยและ Day Time Running Light ในโคมเดียวกัน เข้าชุดกับกันชนหน้าสีทูโทนดีไซน์ลงตัว





ด้านข้างออกแบบให้มีเส้นสายที่โฉบเฉี่ยวกว่ารุ่นเดิมพร้อมกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว พร้อมล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 17 นิ้ว 17 X 7’’ J พร้อมยาง 225/60 R 17 จาก Continental Conti MAX Contact MC5 รับกับซุ้มล้อสีดำลวดลายบึกบึน แต่ความจริงน่าจะให้ล้อทูโทนลายดาวขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 225/60 R18 จะช่วยทำให้ตัวรถดูทะมัดทะแมงมากขึ้น ราวหลังคาเหมาะสำหรับขนทั้งจักรยานเสือภูเขา และสัมภาระต่างๆได้อย่างเต็มที่และด้านท้ายมีความสง่างามด้วยไฟท้าย LED แบบรูปตัว C พร้อมกันชนท้ายสีทูโทนแนวดุดัน

มิติตัวรถใหญ่ขึ้นเกือบทุกส่วนตั้งแต่ ความยาว 4,465 มม. ความกว้าง 1,800 มม. ความสูง 1,615 มม. ความสูงจากพื้นถึงตัวรถมากถึง 220 มม. ฐานล้อ 2,665 มม.น้ำหนักรถ 1,439 กก.และความจุถังน้ำมัน 63 ลิตร เมื่อเทียบกับรุ่น XV เจเนอเรชั่นที่แล้วพบว่า ความยาวเพิ่มขึ้น 15 มม. ความกว้างเพิ่มขึ้น 20 มม. แต่ความสูงยังเท่าเดิม การใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่ชื่อ Subaru Global Platform ส่งผลให้ตัวรถคล่องตัวลุยตามใจสั่งรวมถึงโครงสร้างมีความแข็งแรงมากขึ้น ในทุกความเร็ว ปลอดภัยกว่าเดิมเพราะ มีความแข็งแรงมากกว่า 70-100% เมือเทียบกับรุ่นเดิมและจุดศูนย์ถ่วงจัดวางต่ำลง ช่วยลดการโคลงตัวได้ร้อยละ 50







ถึงแม้จะนำพื้นฐานจาก Subaru Impreza มาพัฒนาทั้งคัน สามารถหยิบยืมของบางอย่างมาใช้ร่วมกันได้รวมถึงภายในยกชุดดีไซน์ทั้งแผงคอนโซลหน้า แผงประตู มาใช้แต่ปรับสีสันด้วยโทนสีดำเข้ม แผงคอนโซลหน้าตกแต่งผิวสัมผัสเดินด้ายส้มพร้อมแผงตกแต่งสีเงินอารมณ์คมเข้ม สุขุมขึ้น คับคั่งด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ทั้งมาตรวัดเรืองแสงพร้อมจอ แสดงข้อมูลการทำงานของตัวรถขนาดใหญ่ 4.2 นิ้วแบบ LCD พวงมาลัยสามก้านแบบมัลติฟังก์ชั่นหุ้มหนังเดินด้ายส้มจับกระชับมือมาก สนุกกับการเปลี่ยนเกียร์แบบมันส์สะใจด้วย Paddle Shift ก้านไฟเลี้ยวกับที่ปัดน้ำฝน มีการสลับตำแหน่งแบบเดียวกับรถยุโรปและให้แตกต่างจากรถญี่ปุ่นยี่ห้ออื่นๆ ทำให้เจ้าของรถที่พึ่งมาใช้รุ่นนี้เป็นครั้งแรกอาจงงงวยกันสักนิด





เด่นด้วยจออเนกประสงค์เหนือคอนโซลกลางแบบ LCD 6.3 นิ้ว สำหรับบอกอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง สภาวะการขับขี่ และข้อมูลการบำรุงรักษารถ ฯลฯ (แต่กลับไม่ให้เมนูภาษาไทยมาสำหรับสาวกที่ไม่ชำนิชำนาญในเรื่องภาษาอังกฤษมากน้อยเท่าไหร่) อลังการกว่าเดิมด้วยจอสัมผัสขนาดใหญ่ 8 นิ้ว (คาดว่าอาจให้ Panasonic เป็น OEM) รองรับความบันเทิงหลากรูปแบบ พร้อมระบบนำทางและมีเมนูภาษาไทยให้ เชื่อมต่อสะดวกด้วยพอร์ท USB AUX HDMI BLUETOOTH กับลำโพงคุณภาพถึง 6 ตัว ที่เสียงเพลงค่อนข้างละเอียด ฟังไพเราะ ตลอดการเดินทาง ถัดลงมาเป็น ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ DUAL-ZONE ถึงแม้รถที่ได้มาทดสอบนั้นไม่ได้ติดฟิล์มกรองแสงมาให้ก็ตาม แต่กระจายความเย็นได้ทั่วถึงและเย็นเร็ว หลังคอนโซลเกียร์ เข้าเบรกและปลดเบรกขณะจอดถาวรได้สบาย ด้วยระบบเบรกมือแบบไฟฟ้า (EPB) แบบกดขึ้น-ลงแทนที่แบบคันโยก ลาทีกับการที่ต้องมากดปุ่มกุญแจรีโมทเพื่อปลดล็อกประตูด้วยกุญแจรีโมทแบบ Smart Entry เพียงใส่กุญแจในกระเป๋ากางเกงกดไปที่ ปลายก้านเปิดประตูก็สามารถปลดล็อกและล็อกได้ทันที พร้อมปุ่ม Push Start ตามสมัยนิยมของรถยนต์ยุคใหม่





เบาะนั่งทรงสปอร์ตให้ความลงตัวนั่งสบายในการเดินทาง เสริมภาพลักษณ์สปอร์ตด้วยโทนสีดำเดินด้ายส้ม ทั้งด้านคนขับปรับสูง-ต่ำด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ส่วนคนนั่งปรับแบบธรรมดาด้านวัสดุหุ้มเบาะกลับกลายเป็นผ้าแบบ Charcoal Fabric แบบนี้ไม่สมราคาตัวรถระดับล้านสองกลางๆ เป็นแน่แท้ แต่ยังมีความดีตรงที่ว่ามีรถไม่กี่รุ่นที่จำหน่ายในไทยใจดีให้หมอนรองศรีษะปรับดันหัวได้ถึง 5 ระดับ เหมาะสำหรับบุคลิกของผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าที่แตกต่างกัน เบาะหลังนอกจากให้ความสบาย ทั้งช่องวางขาและเหนือศีรษะที่มีพื้นที่เหลือยังมีที่วางแก้วมาให้ตรงที่พักแขนตรงกลางและจุดยึดที่นั่งเด็กISOFIX แล้วยังสามารถพับ 60:40 เพื่อการขนของได้จุใจมากสุด 1,240 ลิตร





ใต้ฝากระโปรงเจ้าหนุ่มค่ายดาวลูกไก่ยังคงเป็นเครื่องยนต์เบนซินลูกสูบนอนยัน BOXER รหัส FB20 2.0 ลิตร เช่นเดิมแต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งคันต้องพัฒนาให้ยอดเยี่ยมกว่าด้วยการเพิ่มระบบฉีดจ่ายนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบตรง หรือ Direct Injection พร้อมระบบควบคุมวาล์วแบบแอคทีฟ (AVCS: ACTIVE VALVE CONTROL SYSTEM) ทั้งไอดี และไอเสีย พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มแรงบิดช่วงรอบต่ำให้อัตราเร่งที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด เป็น 12.5:1 จากเดิม 10.5:1 ทำให้กำลังมากขึ้นเป็น 156 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที (เดิม 150 แรงม้าที่ 6,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตรที่ 4,200 รอบต่อนาที)

ระบบส่งกำลังยังเป็นเกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT คราวนี้มาพร้อมลูกใหม่แบบ 7 สปีด จากเดิม 6 สปีด ผูกขาดประจำกับระบบเด่นของค่ายนั่นคือระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบสมมาตรตลอดเวลา Symmetrical all-wheel drive กระจายแรงบิดแบบอัตโนมัติเริ่มที่ล้อหน้า 60 % และ ล้อหลัง 40 % และมาปรับให้ล้อหน้ากับล้อหลังเท่ากันแบบ 50 % ตอบโจทย์การยึดเกาะถนนให้ดียิ่งขึ้น



เจ้าของรถ Subaru XV เจนที่แล้วเคยค่อนขอดว่าระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ติดรถมานี้มันทำงานก็ดีอยู่แต่ทำไมกลับไม่มีระบบ X-MODE จนทีมวิศวกร Subaru เก็บข้อมูลเป็นการบ้านเพื่อพัฒนา ที่สุดแล้วยอมติดตั้งมาให้เป็นออพชั่นมตรฐานในเจนเนอเรชั่นสอง โดย X-MODE จะทำหน้าที่ควบคุม เครื่องยนต์ ,เกียร์และระบบควบคุมการทรงตัว และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ภายใต้สภาพถนนที่แตกต่างกันทั้งทางโหด ทางลุย โคลน สารพัดรูปแบบ ทำให้มั่นใจได้เลยว่า ไปไหนกันแบบสุดขั้วกันเลยทีเดียว



เครื่องยนต์ BOXER 2.0 ลิตร ถึงแม้จะใช้รหัสเดิมพื้นฐานเดิม แต่เพิ่มกำลังไปพอสมควรสิ่งได้มานั้น โชว์ศักยภาพ 156 แรงม้า อย่างเต็มกำลัง สนุกสนานในการขับขี่ทุกช่วงความเร็วไม่จะขับในเมืองหรือขับต่างจังหวัด ออกตัวดีขึ้นตอนเร่งแซงกลับให้ความว่องไวขึ้นถ้าต้องการจะมุดซ้ายมุดขวา เข้าโค้งมั่นใจยิ่งขึ้น แถมในรอบเครื่องยนต์ในช่วงความเร็วตั้งแต่ 90-120 กม./ชม.ทำผลงานดีกว่าเจนที่แล้วอย่างเห็นๆส่งผลให้เครื่อง 2 ลิตร ในร่างใหม่กระฉับกระเฉงกว่าส่วนการเก็บเสียงอาจมาเสียตรงที่เสียลมและและเสียงเครื่องที่ทำให้รำคาญใจบ้างในช่วงความเร็วสูง ราว 130 กม./ชม. แต่ความเร็วกลางๆ 60-110 กม. เงียบพอสมควรฟังเพลงพูดคุยสนทนากันอย่างเมามันส์เลยทีเดียว ส่วนอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้เฉลี่ย 12.33 วินาที นับว่าดีเยี่ยมกว่าเจนที่แล้วที่ทำได้เฉลี่ย 13.07 วินาที

รอบการทำงานของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร BOXER



รถ Crossover ค่ายดาวลูกไก่ กับ การบริโภคน้ำมันทำผลงานดีด้วยตัวเลขสิ้นแปลือง จากโปรแกรม Save Mode ทำได้ 12.29 กม./ลิตร จากระยะทางรวม 61.5 กม.และจัดน้ำมันเต็มถังจากปั๊มแถวเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ 5.01 ลิตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ตามสภาพการใช้งานจริง ส่วนการใช้งานในเมืองได้ตัวเลข 9.86 กม./ลิตร ด้านอัตราสิ้นเปลืองนอกเมืองทำตัวเลขอยู่ที่ 11.45 กม./ลิตร จากระยะทาง 642.3 กม. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- นครราชสีมา และเติมเข้าไปเต็มถัง 56.06 ลิตร นับว่าเป็นตัวเลขสิ้นเปลืองที่ถือว่าประหยัดกว่ารุ่นเจนที่แล้วอย่างชัดเจน

ตารางแสดงอัตราสื้นเปลืองน้ำมัน Subaru XV

ระบบเกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT ใช้ลูกใหม่แบบ 7 สปีด ให้อัตราทดมากกว่าเจนที่แล้วตั้งแต่ 3.600-0.557 (ตอนผลักมาที่เกียร์ M) กับ 3.600- 0.512 (ตอนเข้าเกียร์ D) และเฟืองท้ายมากกว่าเดิมเป็น 3.900 ผสานกับกำลังเครื่อง 2 ลิตร ส่งผลให้การตอบสนองเกียร์แม่นยำขึ้นทำงานได้อย่างสมดุลขึ้น ส่งกำลังดีต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเจนที่แล้วที่มีข้อเสียตรงที่การทำงานของเกียร์อาจไม่ฉับไวก็ตาม



การเก็บเสียงทำคะแนนได้อย่างน่าพอใจอาจไม่ดีเด่นเมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับเดียวกัน ช่วงล่างทั้งหน้าและหลัง ทาง ซูบารุ เลือกใช้ระบบแบบอิสระ 4 ล้อ เริ่มจากด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และหลังแบบปีกนกคู่ดับเบิ้ลวิชโบน ตลอดการขับขี่ให้ความนุ่มนวลขึ้นในช่วงความเร็วต่ำถึงปานกลาง เกาะถนนเข้าโค้งมั่นใจ ซับแรงกระแทกที่เป็นหลุมเป็นบ่อรวมถึงช่วงจัมพ์คอสะพานได้ดี อาการโคลงตอนเลี้ยวแทบเห็นน้อยมาก อาจเป็นได้ว่าการจัดวางของเครื่องยนต์แบบลูกสูบนอน ช่วงล่างที่เหมาะสมโครงสร้างแพลต์ฟอร์มใหม่ รวมถึงตัวช่วยต่างๆระบบควบคุมการทรงตัว (VDC) และระบบควบคุมแรงบิดอัตโนมัติขณะเข้าโค้ง (ATV) ของ ซูบารุ ส่งผลเรื่องเสถียรภาพการทรงตัวที่ดีกว่าและโดนเด่นเจ้าอื่นๆ

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นส่วนสำคัญของรถ Subaru เลือกใช้ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์แบบไฟฟ้า ขอชื่นชมในเรื่องน้ำหนักพวงมาลัยที่เบามือขึ้นการบังคับทิศทางอยู่ในเกณฑ์แม่นยำพอเมื่อเทียบกับเจนที่แล้ว ระบบเบรกยังเป็นดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบเบรก ABS การตอบสนองของแบรกเมื่อเหยียบไป 30-40 % ทำผลงานดี หยุดรถฉับไวทันใจพอสมควร หายห่วงทันที ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Subaru รุ่นนี้



แม้ Subaru XV จะจัดอยู่ในกลุ่ม B-Crossover ที่รายล้อมด้วยเหล่าบรรดาคู่แข่งร่วมชาติ ด้วยตัวรถที่โดดเด่นใหม่หมด เทคโนโลยีที่หาตัวจับยาก สามารถสู้ได้ในทุกประตู ออพชั่นข้าวของที่ให้มาถึงบางอย่างอาจไม่ครบครันจนสุภาพสตรีที่ตัดสินใจซื้อครุ่นคิดว่า ทำไมให้มาน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาะนั่งหุ้มผ้า แทนที่จะเป็นเบาะหนัง รวมถึงระบบขั้นสงูอย่าง Subaru Eyesight หรือระบบสนับสนุนการขับขี่ด้วยฟังก์ชั่นหลากหลายช่วยผู้ขับขี่รับประสบการณ์การขับขี่ที่ปลอดภัย เพราะจะทำให้ไม่สมศักดิ์ศรีรถราคาระดับล้านสองกลางๆ

แต่สิ่งที่ได้มานั้นทั้ง ขุมพลัง 2 ลิตรจากเครื่องลูกสูบนอนยัน BOXER กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD เจ้าเดียวในตลาด ที่ให้กำลังวังชาฉับไวคล่องแคล่วกว่ารุ่นเดิม ช่วงล่างนุ่มเกาะถนน เกียร์ทำงานตอบสนองดี เป็นต้น ก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคในการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะแฟนๆขาประจำที่ภักดีมายาวนานและมือใหม่ที่เริ่มหันมามอง Subaru XV มากขึ้น

เรื่องและขับทดสอบโดย นายเต้ย

รถทดสอบ Subaru XV 2.0 i-P ราคาจำหน่าย 1,259,000 บาท (ราคาสุทธิรวมแพ็คเก็จ Option Pack)

ขอขอบคุณ บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ความอนุเคราะห์รถยนต์ Subaru XV มาทดสอบ

[/img]




 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Sitemap 1 2 3 4 5 6