
Nissan ประกาศขาดทุนอย่างหนักกว่า 670.9 พันล้านเยน หรือราว 161,000 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเปิดเผยแผน “Re:Nissan” เพื่อฟื้นฟูองค์กร ซึ่งหนึ่งในแนวทางหลักคือการปิดโรงงานผลิต 7 แห่งทั่วโลกภายในเดือนมีนาคม 2028

แม้จะยังไม่เปิดเผยรายชื่อโรงงานทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ แต่แหล่งข่าวจากสำนักข่าว Reuters รายงานว่า Nissan กำลังพิจารณาปิดโรงงาน 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงโรงงานในแอฟริกาใต้และอาร์เจนตินา พร้อมถอนโรงงานในอินเดียออกจากการดำเนินงาน และปรับโครงสร้างโรงงานในเม็กซิโกให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2 โรงงานของ Nissan ในญี่ปุ่นเสี่ยงถูกปิด
โรงงานที่ถูกจับตามองในญี่ปุ่นคือโรงงาน Oppama และ Shonan
Oppama มีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ 240,000 คันต่อปี ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 3,900 คน ผลิตรถยนต์รุ่น Note และ Leaf
Shonan เป็นโรงงานผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ที่ร่วมทุนกับอีกบริษัทหนึ่ง โดย Nissan ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง มีกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน ผลิตรถรุ่น NV200 Vanette, Caravan และ AD Wagon มีพนักงานราว 1,200 คน
หากสองโรงงานนี้ถูกปิดจริง Nissan จะเหลือโรงงานในญี่ปุ่นเพียง 3 แห่ง คือที่ Tochigi และอีกสองแห่งในภูมิภาคคิวชู ถือเป็นการปิดโรงงานในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2001 ที่เคยปิดโรงงาน Murayama ภายใต้การบริหารของ Carlos Ghosn
ขยายผลกระทบไปยังโรงงานต่างประเทศ
Nissan ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การผลิตรถกระบะ Navara จะถูกรวมศูนย์ไว้ที่โรงงานในเม็กซิโก โดยจะยุติการผลิตในอาร์เจนตินา ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตในสามประเทศคือ เม็กซิโก อาร์เจนตินา และไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังยืนยันว่ากำลังถอนตัวจากโรงงานในอินเดีย โดย Renault ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าจะเข้าซื้อหุ้นของ Nissan ในโรงงานดังกล่าว ซึ่งผลิตรถยนต์อย่าง Nissan Magnite, X-Trail, Renault Kwid, Kiger และ Triber
ขณะเดียวกัน โรงงาน Sunderland ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นฐานการผลิต Qashqai, Juke และ Leaf จะไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงโรงงานในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปลอดภัยเช่นกัน
แผนฟื้นฟูที่มาพร้อมการลดคนและหยุดพัฒนาบางรุ่น
นอกจากการปิดโรงงาน Nissan ยังวางแผน ลดพนักงานกว่า 20,000 คนภายในเดือนมีนาคม 2028 และมุ่งหาประสิทธิภาพจากแผนกวิจัยและพัฒนา รวมถึง หยุดการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่มีกำหนดเปิดตัวหลังมีนาคม 2027 เป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมต้นทุนและเน้นการฟื้นฟูองค์กรในระยะยาว
ข้อมูลจาก Carexpert